อัยการสูงสุดรับสำนวนคดี “แพทองธาร–ฮุน เซน” ปมคลิปเสียงข้ามแดน ตร.ชี้เข้าข่ายผิด ม.116–พ.ร.บ.คอมฯ
1 min read
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (14 กรกฎาคม 2568) กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (บก.สอท.1) ได้ส่งมอบสำนวนคดีเกี่ยวกับการปล่อยคลิปเสียงสนทนาระหว่าง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กับ สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้กับอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการสอบสวนกรณีความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร
โดยคดีดังกล่าว เริ่มต้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากที่ นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้เข้าแจ้งความต่อ บก.สอท.1 เพื่อดำเนินคดีกับสมเด็จฮุน เซน ในข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยกล่าวหาว่ามีการเผยแพร่คลิปเสียงดังกล่าวเพื่อหวังผลทางการเมืองและสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนชาวไทย
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ได้เดินทางมาส่งมอบสำนวนด้วยตนเองที่สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมี นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับมอบ สำนวนคดีประกอบด้วยเอกสาร 1 แฟ้ม จำนวนประมาณ 50 หน้า

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ เปิดเผยว่า หลังจากที่พนักงานสอบสวน บก.สอท.1 ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน และพบว่าเพจเฟซบุ๊กของสมเด็จฮุน เซน มีการโพสต์ข้อความที่มีลักษณะเป็นขั้นตอนและเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ดูแลเพจ (แอดมิน) อยู่ในประเทศกัมพูชา จึงมีความเห็นว่าคดีนี้เป็น คดีนอกราชอาณาจักร และได้ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการพิจารณาและเป็นพนักงานสอบสวนเพื่อกล่าวโทษแอดมินเพจดังกล่าวในสองข้อหาข้างต้น
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ยืนยันว่ามีแอดมินเพจมากกว่า 1 คน ส่วนจะมีการกล่าวโทษสมเด็จฮุน เซน ด้วยหรือไม่นั้น ยังคงอยู่ในสำนวน นอกจากนี้ พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ยังชี้แจงว่าคดีนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับคลิปเสียงที่พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร้องทุกข์เรื่องคลิปเสียงที่กล่าวอ้างว่าสมเด็จฮุน เซน สั่งฆ่านักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งคดีหลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ย้ำว่ากระบวนการสอบสวนเป็นไปตามกฎหมายทุกขั้นตอน และอำนาจการสอบสวนได้โอนไปยังอัยการสูงสุดแล้ว พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่การดำเนินคดีแก้เกี้ยว แต่เป็นหน้าที่ของตำรวจเมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์ และยอมรับว่าคดีนี้เป็นคดีที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงต้องทำสำนวนอย่างรอบคอบและเป็นไปตามพยานหลักฐาน
นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ได้อธิบายถึงขั้นตอนทางกฎหมายหลังจากนี้ว่า อัยการสูงสุดจะนำสำนวนจากตำรวจไปตรวจสอบ เพื่อพิจารณาว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักรจริงหรือไม่ หากเห็นว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักรจริง ก็จะมีความเห็นและมีคำสั่งตั้งพนักงานอัยการจากสำนักงานการสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยจะพิจารณาว่ามีเจตนาให้เกิดผลในราชอาณาจักรตามองค์ประกอบความผิดหรือไม่
หากมีพยานหลักฐานเพียงพอและพบว่าเป็นความผิดจริง ก็จะส่งสำนวนกลับไปยังอัยการสูงสุดเพื่อทำความเห็นสั่งฟ้อง และหากอัยการสูงสุดมีความเห็นพ้องสั่งฟ้อง ก็จะดำเนินการขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับ และประสานงานกับองค์การตำรวจสากล (Interpol) เพื่อออกหมายแดงต่อไป
นายศักดิ์เกษมระบุว่า อัยการจะพิจารณาคดีนี้อย่างละเอียดรอบคอบ เพราะเป็นคดีที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่จะดำเนินการตามพยานหลักฐาน
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะต้องเชิญนางสาวแพทองธาร ชินวัตร มาให้ปากคำหรือข้อมูลหรือไม่ นายศักดิ์เกษมกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานว่าเพียงพอหรือไม่ หรือมีความเห็นที่ควรเรียกบุคคลในคดีมาให้การเพิ่มเติมหรือไม่ และยอมรับว่าการดำเนินคดีกับบุคคลสำคัญในต่างประเทศจะต้องยึดตามพยานหลักฐานที่เพียงพอในการแจ้งข้อหาความผิด เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยมีการฟ้องดำเนินคดีกับผู้นำต่างประเทศมาก่อน
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการในการดำเนินการสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลจึงไม่สามารถเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงได้ อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์เกษมยอมรับว่ามีปัญหาติดขัดในเรื่องของสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากประเทศไทยและกัมพูชาไม่มีสนธิสัญญาดังกล่าวระหว่างกัน