ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ทลายแหล่งผลิต “4×100 สายพันธุ์ใหม่” ซ่อนในน้ำหวานปลุกปั่นเยาวชน
1 min read
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สนธิกำลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บุกทลายแหล่งผลิตน้ำหวานปรุงสำเร็จยี่ห้อ “69” ที่ลักลอบนำกระท่อมมาผสมกับน้ำเชื่อม แทนยาแก้ไอ และจำหน่ายให้กลุ่มวัยรุ่นใน จ.สมุทรปราการ พบกระบวนการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย ใช้แรงงานต่างชาติกรอกบรรจุขวดด้วยมือเปล่า
การจับกุมครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่เร่งปราบปรามสารเสพติดรูปแบบใหม่ที่มักล่อลวงเยาวชน โดยเฉพาะ “Lean” หรือ “4×100” ที่กำลังแพร่ระบาดในหมู่วัยรุ่น โดยมักนำน้ำหวานผสมยาหรือสารบางชนิดเพื่อหวังผลให้เกิดความมึนเมา
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และ อย. ได้สืบทราบว่ามีการลักลอบผลิตน้ำหวานเข้มข้น หรือ Syrup ออกจำหน่ายในชุมชนที่มีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนมาก โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อที่สื่อถึงการนำไปผสมกับเครื่องดื่มเพื่อให้เกิดความมึนเมา เช่น “ผสมน้ำดื่ม-เครื่องดื่ม หรือน้ำสมุนไพร เพื่อลดขม เพิ่มรสชาติ ให้มีความหวาน-หอม กลมกล่อมยิ่งขึ้น”, “น้ำเชื่อมหวานเข้มข้น ของคนรุ่นใหม่”, “เน้นดีด ไม่เน้นซึม” และ “รับประกันความยัน” ซึ่งคำว่า “ยัน” เป็นคำสแลงที่หมายถึงอาการมึนเมาหลังเสพสารเสพติดในกลุ่มวัยรุ่นภาคใต้

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อย. ได้นำหมายศาลจังหวัดพระประแดง เข้าตรวจค้นบ้านพักใน ต.ในคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ พบ นางสาวธาริณี (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี เป็นผู้นำตรวจค้น
จากการตรวจสอบ พบว่ามีการใช้โรงจอดรถหน้าบ้านเป็นสถานที่ผลิต โดยมีการต้มใบกระท่อมในหม้อ จากนั้นนำมาผสมกับน้ำเชื่อมแต่งกลิ่นรสต่างๆ และใช้แรงงานต่างชาติกรอกบรรจุลงขวดด้วยมือเปล่า โดยไม่สวมถุงมือใดๆ ทั้งสิ้น สถานที่ผลิตไม่ได้รับอนุญาตและไม่ถูกสุขลักษณะอนามัยอย่างยิ่ง
เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดของกลางจำนวนมาก ประกอบด้วย:
- ผลิตภัณฑ์น้ำหวานรสผลไม้ ยี่ห้อ 69 Sixnine ที่ไม่มีเลข อย. ทั้งรสโยเกิร์ต, สตรอเบอรี่, แอปเปิล, องุ่น, และบลูฮาวาย กว่า 300 ขวด
- วัตถุดิบในการผลิต เช่น ใบกระท่อมสด 15 กิโลกรัม, น้ำเชื่อมรสเข้มข้น, ผงรสผลไม้, น้ำเชื่อมสูตรดั้งเดิม, และผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมยี่ห้อ 69 ทั้งขนาด 60 ซีซี และ 1,000 ซีซี จำนวนมาก
- อุปกรณ์ในการผลิต อาทิ ถังสเตนเลสบรรจุน้ำต้มใบกระท่อม, เตาแก๊ส, ถังใส่น้ำพลาสติก, กาละมัง, กระบวย, เหยือกกรอกน้ำ, ขวดพลาสติกเปล่าพิมพ์ตรา 69, ฝาขวด และสติกเกอร์ SIX BOSS 69
จากการสอบสวน นางสาวธาริณีฯ ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ผลิตน้ำเชื่อมรสผลไม้ตรา 69 ออกจำหน่ายให้กับลูกค้า โดยคิดค้นสูตรและวิธีการทำขึ้นมาเอง ส่งขายในราคาขวดละ 60-70 บาท ผลิตได้ประมาณวันละ 120-150 ขวด และทำมาแล้วประมาณ 2-3 เดือน
เบื้องต้น พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจพิสูจน์เพื่อยืนยันผล หากพบสารที่เป็นอนุพันธ์ทางยาหรือสารเสพติด จะมีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมต่อไป
ในเบื้องต้น การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ในข้อหา “ผลิตและจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และหากตรวจพบยาแผนปัจจุบันหรือสิ่งเจือปนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะเข้าข่าย “อาหารไม่บริสุทธิ์” มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวขอบคุณตำรวจ บก.ปคบ. ที่สืบสวนขยายผลจนนำไปสู่การจับกุมแหล่งผลิตอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมย้ำเตือนประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อนจำหน่าย หากไม่มีเลขสารบบอาหาร ห้ามซื้อมารับประทานโดยเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่ทราบแหล่งผลิตและมาตรฐานการผลิต ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line: @FDAThai หรือแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย.1556


พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผบก.ปคบ. กล่าวเน้นย้ำถึงอันตรายของการนำยาแก้แพ้ แก้ไอ หรือแก้ปวด มาผสมเป็นสารเสพติด “4×100” หรือ “Lean” ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพ เกิดการติดยา และนำไปสู่การก่ออาชญากรรมได้ บก.ปคบ. จะเดินหน้าปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่พบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค